วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Thai Music at Stanford Pan Pacific Music Festival 2007














บรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจ .....
แสตนฟอร์ดเผยแพร่นาฏศิลป์-ดนตรีไทย

Drum and Dance Ensemble, Thailand
From College of Dramatic Arts
Stanford Pan Pacific Music Festival 2007

แม้ว่าเหตุการณ์ที่จะนำมาบันทึกให้อ่านกันนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนบันทึกไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วคือเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ 2007 แต่ก็ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยในเบย์แอเรีย ในสแตนฟอร์ด และผู้ที่รักในดนตรีไทย จะมิมีวันลืม ในโอกาสที่มีบล็อกนี้ขึ้นมาก็เลยขอถือโอกาสนำบันทึกดังกล่าวมาเผยแพร่ให้อ่านกัน เพื่อเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งพวกเราได้ร่วมซึมซับกับบรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจมิรู้ลืม

มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เมือง พาโล อัลโต มลรัฐคาลิฟอร์เนีย มองเห็นคุณค่าของดนตรีไทย ส่งเทียบเชิญนักดนตรีและนักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รวมสิบแปดชีวิต ไปร่วมงานแสดงดนตรีประจำปี Pan Pacific Music Festival 2007 at Stanford University ในปีนี้ได้นำเสนอกลองเป็นไฮไลท์ของเครื่องดนตรี เรียกชื่องานไพเราะห์เพราะพริ้งว่า Drum Beats of Asia ภายใต้การอำนวยการแสดงของ Professor Jindong Cai จาก Stanford Department of Music มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด

ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงในงานดังกล่าว นอกจากคณะศิลปินจากประเทศไทยแล้ว ยังมีศิลปินจากประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น และนักเรียนจากภาควิชาดนตรีของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดร่วมด้วยผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมชมและเก็บเกี่ยวบรรยากาศการแสดงดนตรีและนาฏศิลปไทยในงานดังกล่าวอย่างใกล้ชิดถึงสองวัน ได้เห็นชาวต่างชาติแสดงความชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของเรา จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะส่งรายงานข่าวนี้มาให้ชาวไทยได้ร่วมกันภูมิใจด้วย

ก่อนที่จะบรรยายบรรยากาศของงานให้ฟัง ต้องขอเล่าถึงบุคคลคนหนึ่งที่มีส่วนในการเชิญคณะจากวิทยาลัยนาฏศิลปไปแสดง นั่นคือผู้อำนวยการแสดง ศาตราจารย์ วาทยากรของแสตนฟอร์ดออเคสตร้า เขาเป็นวาทยากรผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในอเมริกา จบปริญญาเอกจาก New England Conservatory and the College Conservatory of Music in Cincinnati
เคยได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อาทิ Conducting Fellowship Award at the Aspen Music Festival ปี ค.ศ. 1992 และ ปี ค.ศ. 1999 เป็นต้น

ศาตราจารย์ท่านนี้ เคยนำคณะ มาแสดงกลองไทโกะที่ประเทศไทยเขามีโอกาสได้เข้าไปดูงานดนตรีไทยที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เมื่อปี พ.ศ. 2547และเกิดความประทับใจในดนตรีไทย จึงได้เดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนวิทยาลัยนาฏศิลป์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2549

ดังนั้นปีนี้เมื่อเขาจะจัดมหกรรมดนตรีเอเซียขึ้นอีกเป็นปีที่สาม เขาจึงเสนอให้นำกลองและเครื่องดนตรีจากประเทศไทยไปแสดง และแน่นอนว่าเขาต้องเลือกคณะแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป ศาตราจารย์ Cai เล่าว่าศิลปินที่ไปแสดงจากประเทศอื่นไปเพียงคนเดียวต่อประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยเขาเชิญไปถึงสิบแปดคนที่เชิญไปมากกว่าประเทศอื่นก็เพราะทางวิทยาลัยนาฏศิลปต้องการจะนำนาฏศิลปไปประกอบการแสดงดนตรีด้วย เพื่อให้เป็นการเผยแพร่ทั้งศิลปด้านดนตรีและนาฏศิลปที่สมบูรณ์แบบ

แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้น แต่มหาวิทยาลัยที่มีเงินสนับสนุนมากมายเช่นมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดหรือจะกลัวเรื่องทุน ดังนั้นสิบแปดชีวิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลปจึงได้เดินทางไปถึงแสตนฟอร์ดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยมี อาจารย์ สุกัญญา พยัคฆ์เกษม รองผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป เป็นหัวหน้าคณะ และ อาจารย์ บำรุง พาทยกุล หัวหน้าภาควิชาดนตรีไทย เป็นรองหัวหน้าคณะอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนอำนวยความสะดวกและติดต่อคณะนาฏศิลปและดนตรีให้ได้ไปแสดงในครั้งนี้ก็คือ คุณวิวัฒน์วงศ์ วิจิตวาทการ และครอบครัว(ต้องขออภัยหากสะกดชื่อภาษาไทยผิดไป เพราะว่าทางแสตนฟอร์ดส่งชื่อให้ผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ)

บรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจ

การแสดงของแต่ละชาติมีแสดงไม่ซ้ำวันกัน วันที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ไทยแสดงนั้นมีสองวัน วันแรกแสดงให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลชมหนึ่งชั่วโมง และอีกวันแสดงให้ผู้ชมทั้วไปชมสองชั่วโมง

วันที่ทางคณะแสดงให้เด็กอนุบาลชม เป็นวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ นักเรียนอนุบาลจาก Bing Nursery School (โรงเรียนอนุบาลที่ขึ้นอยู่กับคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย) ผู้ปกครองจูงเด็กๆกันมาเต็มโรงละคร(โรงละครนี้จุคนได้ถึงห้าร้อยคน) ครั้งแรกผู้เขียนและเพื่อนๆพากันลุ้นแบบใจหายใจคว่ำว่าเด็กฝรั่งตัวน้อยๆเหล่านี้จะสนใจดูการแสดงของไทยละหรือ

ผิดคาด..คำว่า “บรรยากาศแห่งความภูมิใจ” ยังน้อยไป เพราะว่าเด็กตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้สนใจและสนุกสนานกับดนตรีไทยที่นำกลองทุกชนิดของเราไปแสดงผสมผสานกับวงปี่พาทย์ และดีมากๆก็คือเด็กเหล่านี้มีความกล้ามากที่จะยกมือขึ้นถามคำถามเกี่ยวกับเครื่องดนตรี ขณะที่วิทยากรของเขาบรรยายเรื่องของดนตรีไทยให้ฟัง

อาจารย์ที่ไปบรรยายให้ฟังคือ Dr. Pamela Moro อาจารย์ภาควิชาโบราณคดีจาก Willamette University in Salem, Oregon เธอเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอรคเลย์ เป็นผู้เขียนพ็อกเกตบุ๊กเรื่อง Thai Music and Musicians in Contemporary Bangkok ซึ่งเวลานี้จำหน่ายหมดและหาซื้อไม่ได้แล้ว

นอกจากเครื่องดนตรีที่เด็กๆสนใจ เช่นการแสดงกลองสะบัดชัยแล้ว เด็กๆยังชอบการแสดงนาฏศิลปกันมากๆ โดยเฉพาะฉากหนุมาณจับนางสุพรรณมัจฉา เพราะว่าหนุมาณกระโดดลงมาเล่นกับเด็กๆ กับอีกชุดที่เด็กๆชอบก็คือระบำนกกิงกะลา ที่นำตัวสัตว์จากป่าหิมพานครึ่งแกะครึ่งกวางมาเล่นกับเด็กๆที่ล่างเวที ดังนั้นเมื่อการแสดงจบนอกจากจะได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องแล้ว เด็กๆก็ยังกระโดดขึ้นไปเพื่อซักถามและเล่นกับนักแสดงทุกคนด้วยความสนุกสนาน นับเป็นภาพประทับใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น

ส่วนในวันแสดงจริงคือวันพฤหัสที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ นั้น ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโกและเบย์แอเรียได้ไปชมร่วมกับชาวอเมริกันหลายร้อยคนและการแสดงก็ออกมาได้สวยงามสมกับที่ได้รอคอย ขอใช้คำว่า “รอคอย” เพราะว่าคนไทยและอเมริกันที่อยู่ทางคาลิฟอร์เนียภาคเหนือไม่มีโอกาสได้ชมการแสดงของกรมศิลปากรกันเลย นอกจากครั้งเดียวที่กองสังคีตนำศิลปินไปแสดงโขนที่เฮิรบเธียเตอร์ในซานฟรานซิสโก เมื่อคราวเอเชียนอาร์ตมิวเซียมจัดงานเปิดพิพิธภัณฑ์เอเชี่ยนเมื่อสามปีก่อน

ขนาดมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดยังเขียนไว้ในใบโฆษณางานเลยค่ะว่าการแสดงของคณะครั้งนี้เป็น “only US appearance!!!” (เขาแสดงเครื่องหมายตกใจเช่นนี้จริงๆ)

เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่าทางวิทยาลัยนาฏศิลป์นำการแสดงใดไปให้ฝรั่งดูบ้าง ขอรายงานดังต่อไปนี้ค่ะ กลองสะบัดชัย กลองศึก กลองยาว การต่อสู้ด้วยกะบองสั้น รำดาบ ระบำกิงกะลา รำบำการีตีปัส ระบำทางใต้ระบำไก่ชน ฟ้อนภูไท ฟ้อนโปงลาง และ หณุมาณจับนางสุพรรณมัจฉา

ขอบันทึกรายนามคณะนักแสดงที่ได้ทำหน้าที่สืบสานศิลปด้านนาฏศิลปและดนตรีอย่างดียิ่งไว้ให้ปรากฏ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ อ.บำรุง พาทยกุล อ.ชรินทร์ พรหมรักษ์ อ.กิตติพงษ์ ไตรพงษ์อ. สหวัฒน์ ปลื้มปรีชา อ.รัตนชัย เตียวิเศษ อ.ไกรฤทธิ์ กันเรืองนายเวชชัยยันต์ เชยนิ่ม นายธราธิป สิทธิชัย นายอดิศักดิ์ ศรีเชียงสา นายวศิน ตรีเจริญ นายวีรกร ศุขศาสตร์ นาย อนุชา สีฟัก นายสุชาติ เอกกุญชร น.ส.กรกนก ทับจีน น.ส.รุ่งทิวา พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ น.ส.ชัญญานุช เจียมกาย น.ส.ภัทรพร ชูสกุล

อยากเห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นกระทรวงวัฒนธรรม ส่งงานแสดงสืบสานวัฒนธรรมไทยออกไปสู่อเมริกาบ่อยกว่านี้ เพื่อให้เป็นทีประจักษ์ว่าศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลปและดนตรีของไทยนั้นมีความงดงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะหาชาติใดเสมอเหมือน

ในเมื่อรัฐบาลประสบความสำเร็จในการสนับสนุนครัวไทยสู่โลกจนบัดนี้ร้านอาหารไทยเป็นที่นิยมกันทั่วอเมริกาถ้าจะนำนาฏศิลปและดนตรีไทยออกไปเผยแพร่บ้างคงจะไม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมิใช่หรือ หากว่าการเผยแพร่ศิลปที่ดีงามของเราจะทำให้ต่างชาติได้รู้จักศิลปของไทยในด้านดีงาม แทนที่จะไปเข้าใจเอาเองว่าเมืองไทยเป็นเมืองค้าบริการทางเพศ อย่างที่คนไทยมักง่ายบางคนได้ทำลายชื่อเสียงของประเทศไป จนเป็นความเจ็บช้ำในหัวใจของคนไทยที่รักศิลปะดั้งเดิมของชาติขณะนี้ ขนาดฝรั่งเขายังกล้าให้งบประมาณเพื่อให้คนของเขาได้เห็นในสิ่งที่มีคุณค่าของเราเลย วันนั้นการแสดงจบลงด้วยคำสรรเสริญจากผู้ชม โดยเฉพาะคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดี ๆๆ

ลิลิตดา กล่าวว่า...

ขอบคุณมากนะคะสำหรับ "ศึกษาต่ออเมริกา" ที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจ

juablog กล่าวว่า...

ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผมเหมือนคนอยู่หลังเขา ไม่ค่อยได้เข้ามาเยี่ยม บล๊อคของคุณเพ็ฯวิภา เลย ทั้งๆที่ คุณเพ็ญวิภา หรือพี่แมวของพวกเรา ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสมาคมในส่วนของ ประชาสัมพันธ์ ในส่วนของการติดต่อประสานงานในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ทั้งจากม.ขอนแก่นก็ดี และจากหลายๆส่วนที่กำลังจะทำและกำลังอยู่ในนโยบายของสมาคม ผมได้แวะมาเยี่ยมบล็อคของพี่เขา ก็ต้องยอมรับครับว่ายอดเยี่ยมในเนื้อหาสาระจริงๆ สมแล้วละครับที่เป็นสื่อมวลชนของคนเบย์แอเรีย ให้ความเป็นกลางทุกฝ่าย มีน้ำใจแก่ทุกคนทุกองค์กรในการนำเสนอข่าว ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ของคุณเพ็ญวิภาเต็มเปี่ยมไปด้วย จิตวิญาณแห่งความสำนึกของคนหนังสือพิมพ์เกินร้อย คำนึงถึงสิ่งที่นำเสนอเป็นสำคัญ ว่าสิ่งไหน ข่าวไหนควรที่จะออกเผยแพร่ให้กับชุมชน สังคมได้รับทราบ โดยเฉพาะขององค์กรสมาคม วัดวา ต่างๆที่เป็นศูนย์รวมของสังคม คุณเพ็ญวิภา ไม่เคยพลาด ไม่ยึดติดกับเรื่องส่วนตัว เรื่องสังคม ชุมชนจะมาก่อนเสมอ ผมในฐานะนายกสมาคมปีนี้ ต้องขอแสดงความขอบพระคุณแทนสังคมไทย แทนสมาคมไทยทุกคนที่พี่แมว เขาทำหน้าที่ได้สมเกียรติสมศักดิ์ศรีของความเป็สื่อนักหนือสือพิมพ์ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ และขอบคุณสำหรับรายข่าว ภาพ เกี่ยวกับงานคิงส์กาล่าไนท์ที่ผ่านมาอีกครั้งครับ