วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2551

เล่าเรื่องเที่ยวเมืองไทย



ตอน เยี่ยมชมโรงเรียนนาฎศิลป์ที่ศาลายา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้เขียนเดินทางไปเมืองไทยเพื่อไปร่วมทำบุญถิ่นอิสานที่วัดทุ่งสว่างอารมณ์ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนนาฏศิลป์ที่ศาลายา จังหวัดนครปฐม

ไม่ได้เขียนผิดนะคะ โรงเรียนนาฏศิลป์ของกรมศิลปาการที่อยู่ตรงวังหน้าเก่านั่นแหละค่ะ บัดนี้เขาทะยอยย้ายนักเรียนออกไปเรียนกันที่สถานที่ใหม่แล้ว คือไปเรียนอยู่ที่ศาลายาค่ะ ฟังมาว่าสาเหตุที่ย้ายออกไปนอกเมืองก็เพราะที่เดิมนั้นขยายต่อไม่ได้แล้ว บ้างก็ว่ามีนโยบายจากกรุงเทพมหานครเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ว่าจะปฏิสังขรวังหน้าซึ่งกินที่ตั้งแต่บริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลปและวัดพระแก้วของวังหลัง เพื่อเป็นสถานที่ประวิติศาสตร์ โดยอนาคตจะทำการรื้อส่วนที่เป็นที่เรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ออก ปัจจุบันได้มีการย้ายนักเรียนระดับมัธยมออกไปแล้ว

แค่ได้ยินก็ใจหายแล้ว ภาพของโรงเรียนนาฏศิลป์ที่ผู้เขียนเคยใฝ่ฝันจะเข้าเรียนตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่ผู้ปกครองไม่เปิดโอกาสให้ และด้วยใจรักในวิชานาฏศิลป์ผู้เขียนไม่เคยท้อถอย ได้เข้าไปขอเรียนกับอาจารย์ สัมพันธ์พันธ์มณี ซี่งอาจารย์ก็ได้มีเมตตาให้เข้าเรียนเป็นศิษย์รุ่นแรกที่พวกเราเด็กๆสิบกว่าคนในรุ่น ต้องไปใช้สถานที่เรียนอยู่ในห้องๆหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินในสมัยนั้นอาจารย์สัมพันธ์ เป็นผู้ที่จุดประกายให้เกิดความรักในศาสตร์ของนาฏศิลป์และดนตรีไทย จนผู้เขียนสามารถนำวิชาเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์จนทุกวันนี้

ด้วยความรักในศาสตร์ศิลปดังกล่าว ผู้เขียนตั้งใจว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องหาโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมวิทยาลัยนาฏศิลปให้ได้ และความหวังนั้นก็ประสบความสำเร็จเมื่อได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์ โต้ง คมสัณฐ หัวเมืองลาด นาฏยศิลปินประจำสำนักการสังคีตกรมศิลปากรผู้เขียนรู้จักกับอาจารย์คมสัณฐ์ เมื่อตอนท่านไปร่วมแสดงโขนจากกรมศิลปากรในงานเปิด Asian Art Festival ที่ Asian Art Museum ในเมือง San Franciso และเมื่อมีโอกาสเดินทางไปเมืองไทย อาจารย์ก็รับเป็นมัคคุเทศน์พาไปชมโรงเรียนนาฏศิลป์ด้วยตัวท่านเองและผู้เขียนก็เพิ่งจะรู้ว่านักเรียนมัธยมต้นจนถึงปลายได้ย้ายออกไปเรียนที่ศาลายาแล้ว

ในช่วงเช้าอาจารย์พาเข้าไปในวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เดิมก่อน สิ่งแรกที่กระทำก็คือการไปกราบคารวะรูปปั้น องค์พระพิฆเนศ สัญญลักษณ์ของสถาบัน นับเป็นวาสนาของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเข้าไปสักการะรูปปั้นอันศักดิ์สิทธิ์ในสถาบันสำคัญที่สุดในวงการนาฏดุริยางคศาสตร์จากนั้นอาจารย์ก็พาผู้เขียนเข้าไปชม วัดพระแก้วของวังหน้า ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า วัดพระแก้ววังหน้าหรือวัดบวรสถานสุทธาวาสนี้ เป็นวัดที่อยู่ในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเขตพระราชวังหลวง โดยสมเด็จพระราชวังบวมหาศักดิพงเสพพระมหาอุปราชในรัชการที่สามทรงสร้างขึ้น

ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ใช้เป็นพระเมรุพิมาน ประดิษฐานพระบรมศพเข้านายหลายพระองค์ เวลาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแทนพระเมรุใหญ่ที่สนามหลวง จิตกรรมฝาผนังรอบๆวัดพระแก้ววังหน้า เป็นภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ ซึ่งในวันที่ผู้เขียนเข้าชมนั้นช่างกำลังปฏิสังขรณ์เพราะภาพต่างๆ ได้จางหายไปพร้อมกับกาลเวลา

อาจารย์คมสัณฐให้เวลาผู้เขียนเดินชมสถานที่ศักดิ์สิทธินี้เป็นเวลาพอสมควร ท่านก็พาออกมาเดินที่ระเบียงด้านล่างของโบถส์ที่มีนักเรียนทั้งชายหญิงกำลังฝึกซ้อมท่ารำกันตามมุมต่างๆ อาจารย์เล่าว่าก่อนที่เด็กมัธยมต้นจะย้ายออกไปที่ศาลายา ณ ที่นี้จะเป็นที่ครูโขนนำนักเรียนมาฝึกซ้อมและเรียนกันที่นี่

เนื่องจากเราจะต้องรีบไปที่ศาลายากัน อาจารย์จึงพาไปเดินชมห้องเรียนที่มีนักเรียนกำลังเรียนดนตรีกันไม่กี่ห้องเรียนเราออกเดินทางจากวังหน้าไปยังศาลายาโดยอาจารย์ขับรถข้ามสะพานปิ่นเกล้ามุ่งออกไปยังนครปฐม ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงเราก็มาถึงโรงเรียนนาฏศิลป์ที่ศาลายา ที่อยู่ใกล้ๆกับวิทยาลัยช่างศิลป์ในวังฯ

ตอนนั้นมีห้องเรียนอยู่เพียงในอาคารสองอาคาร แต่อากาศที่บริสุทธิ เย็นสบาย บนพื้นที่กว่าหกสิบไร่ ปราศจากเสียงรบกวนจากรถราอันขวักไขว่จากกรุงเทพฯ ก็คงจะเป็นนิมิตใหม่ที่ดีสำหรับเด็กรุ่นต่อๆไป

ผู้เขียนได้เห็นการเรียนการสอนที่ยังคงลักษณะเดิมไว้ นั่นคือนักเรียนนุ่งโจงกระเบนสีแดง ใส่เสื้อเครื่องแบบนักเรียนสีขาว ผมยาวรวบไว้ข้างหลังอย่างมีระเบียบสำหรับนักเรียนหญิง และนักเรียนชายก็เช่นเดียวกัน โจงกระเบนสีแดง เสื้อยืดคอกลมสีขาว ผมเกรียนในชั่วโมงเรียนนาฏศิลป์ นักเรียนหญิงเรียนรวมกันหมดตรงใต้ถุนสูง ครูผู้สอนมีประมาณห้าถีงหกท่านเดินคุมและจับท่ารำให้นักเรียน ครูท่านหนึ่งจะทำหน้าที่สอนผ่านไมโครโฟน และเมื่อจบในแต่ละเพลง นักเรียนจะนั่งลงกันบนพื้นรอคำสั่งจากครู นับเป็นภาพที่ผู้เขียนประทับใจว่าคงไม่มีโรงเรียนใดในประเทศไทยที่เรียนและสอนแบบนี้

ทางด้านฝึกโขนนั้น เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการเรียนการสอนจริงๆในวันนั้น หลังจากที่เคยแต่ได้ยินกิตติศัพท์ที่ว่าเป็นการฝึกที่หินพอๆกับการฝึกเป็นทหาร ได้ยินเสียงเด็กนักเรียนร้องด้วยความเจ็บปวดยามโดนครูถีบเหลี่ยม แต่เมื่อเรียนเสร็จนักเรียนก็ลุกขึ้นมาก้มลงกราบครูด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม



ภาพเหล่านี้คงไม่มีให้เห็นในวัฒนธรรมการเรียนที่ใดในโลก เป็นการฝึกความเคารพคุณครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาให้ด้วยวิถีของไทยแต่โบราณกาลที่ว่า ครูให้วิชาศิษย์ด้วยความรักและตั้งใจจะถ่ายทอดสิ่งที่งดงามในอาชีพให้ศิษย์ และศิษย์ก็น้อมรับด้วยความเคารพหวังว่าในวงการนาฏศิลปและดนตรีไทย วัฒนธรรมเหล่านี้จะคงยืนต่อไป

ทราบว่าบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนรู้สึกเสียดายและไม่เห็นด้วยกับการที่โรงเรียนจะย้ายออกไปจากที่เดิม ด้วยความผูกพันกับวังหน้า และสถานที่รอบๆเหมือนกับความรู้สึกของผู้เขียนที่ใจหายไปกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไปกับเขาด้วย ทั้งๆที่ไม่ได้เคยเรียนที่นี่แต่เมื่อได้ออกไปเยือนสถานที่ใหม่แล้ว กลับมีความเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ๆเขาก็คงจะได้สร้างตำนานสถานที่เรียนตามยุคตามสมัยของพวกเขาต่อไปได้เอง

สถานที่อาจจะสูญหายไปได้ตามกาลเวลา แต่ตราบใดที่เรายังมีคณาจารย์ที่ช่วยกันสืบสานการเรียนการสอนตามวิถีนาฏศิลปและดนตรีดังโบราณกาล ตราบนั้นวัฒนธรรมไทยไม่มีวันสูญ

ผู้เขียนกลับออกมาจากโรงเรียนด้วยความรู้สึกปลื้มมากๆค่ะ

บันทึกลงในหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ ที่ออกในลอส แอนเจลลิส ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชื่อร.ร.คือ วิทยาลัยนาฏศิลป นะค่ะ
^-^"

ลิลิตดา กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆนะคะที่ทักท้วงมา ต้องขอโทษในความผิดพลาดครั้งนี้ด้วยค่ะ ดิฉันจะกลับมาแก้ไขบทเขียนใหม่ในเร็วๆนี้ค่ะ