วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เมื่อเว็บไซด์ประพันธ์สาส์สัมภาษณ์ “ลิลิตดา”

เพิ่งจะได้รับเกียรติสัมภาษณ์ลงเว็บไซด์ประพันธ์สาส์น คอลัมน์ “คุยนอกรอบ” กับเขาบ้างโดยไม่ได้คิดได้ฝันว่าจะมีชื่ออยู่บนถนนของนักประพันธ์นี้ เพราะเป็นหนทางที่ไม่ง่ายที่จะเกิด และเมื่อได้แจ้งเกิดกับเขาด้วยคน ก็อยากจะชักชวนผู้ที่อยากรู้จักดิฉัน ไปลองอ่านชีวิตบนถนนนี้ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีแรงบันดาลใจอย่างไรจึงเข้ามาสู่วงการนี้
อาจจะมีข้อแนะนำบางข้อที่อาจจะเกิดประโยชน์และกำลังใจให้ผู้ที่รักการเขียน สนใจเข้าไปอ่านในเว็บไซด์ประพันธ์สาส์นตามลิ๊งค์ข้างล่างนี้ไปได้เลยนะคะ สำหรับท่านที่ไม่สะดวกดิฉันก็ขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านกันในบล็อกนี้เลยนะคะ
และหากมีคำถามที่อยากจะถามเกี่ยวกับข้อสัมภาษณ์ ก็กลับมาทิ้งข้อความไว้ที่นี่ หากตอบได้ก็ยินดีตอบค่ะ






http://www.praphansarn.com/new/c_talk/detail.asp?ID=233




“เมื่อรักที่จะเขียน…อย่าไปกลัวว่าจะมีคนอ่านหรือไม่”

…ลิลิตดา...



วันนี้คอลัมน์คุยนอกรอบจะพาไปพบกับนักเขียนอีกท่านหนึ่ง ที่เข้าร่วมในโครงการชมนาด บุ๊ค ไพร์ซ ด้วยเช่นกัน แม้จะเริ่มจับปากกาเขียนนวนิยายในวัยที่ไม่น้อยแล้ว แต่อายุไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อความหลงใหลในตัวอักษรของ “ลิลิตดา” เธอยังคงเขียนด้วยความรักและความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างเรื่องราวดีๆ สู่สายตานักอ่าน และนี่คือเรื่องราวบางมุมในชีวิตที่ลิลิตดาจะมาเล่าให้พวกเราฟัง


เท้าความเรื่องราวในอดีต

“ลิลิตดา” หรือ เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์ เป็นคนกรุงเทพฯ เรียนชั้นประถมและมัธยมจากโรงเรียนสาธิตสวนสุนันทา และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมพญาไท ในแผนกอักษรศาสตร์ ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม ได้เข้าสอบชิงทุนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการเอเอฟเอส หรือ American Field Service เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรก ที่มีผู้ได้รับทุนสิบสี่คน ได้ไปใช้ชีวิตกับครอบครัวอเมริกันและเรียนเกรดสิบสองของไฮสคูล เป็นเวลาหนึ่งปีที่เมือง Simi Valley มลรัฐ California ในระหว่างปี พ.ศ 2505-2506 และเมื่อกลับมาเรียนจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมพญาไทแล้ว ได้เข้าเรียนและเป็นนิสิตรุ่นแรกของแผนกอิสระสื่อสารมวลชน หรือปัจจุบันคือ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาปี พ.ศ. 2510

เดินทางไปสหรัฐอเมริกาอีกเป็นครั้งที่สองปี พ.ศ. 2511(ค.ศ. 1968) และสมรสกับ นายวัฏฐี โสภาภัณฑ์ สร้างครอบครัวอยู่ที่ ซานฟรานซิสโก-เบย์แอเรีย มลรัฐคาลิฟอร์เนียร์ นานนับสามสิบปี สามีเป็นวิศวกร ส่วนดิฉันทำงานเป็น Manufacturing Training Specialist ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการสร้างขีปนาวุธและผลิตดาวเทียม บริษัท Lockheed Missles and Space Co. ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Lockheed Martin อยู่สิบเจ็ดปี จนบุตรสาวสองคนเรียนจบมหาวิทยาลัย สามีก็ early retire เราสองคนตายายก็อพยพกลับมาอยู่กรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2535 ( ค.ศ. 1992) ลูกสาวคนโตแต่งงานและมาอยู่ประเทศไทย ขณะที่ลูกสาวคนเล็กยังอยู่สหรัฐ

กลับมาเมืองไทยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท H.V. Co ซึ่งเป็นตัวแทนของ บริษัท Ariane Space ของฝรั่งเศส และรับสอนพิเศษภาษาอังกฤษให้กับผู้สนใจที่บ้าน รวมทั้งสอนพนักงานบริษัทไทยพาณิชย์ธนพัทธ์
และในปี พ.ศ. 2544 บุตรสาวคนเล็กคลอดลูก ก็ได้ขอให้ดิฉันกลับไปอยู่ซานฟรานเพื่อช่วยเลี้ยงหลาน ตั้งแต่คนที่หนึ่งจนบัดนี้คุณยายมีหลานคนที่สามแล้ว ไม่ทราบว่ายายติดหลานหรือหลานติดยาย ก็เลยยังอยู่อเมริกาต่อไปอีกจนทุกวันนี้เป็นปีที่เจ็ดของการกลับมาอเมริกาครั้งที่สาม

เริ่มจับปากกา

เขียนครั้งแรกเป็นประเภทบทความและกิจกรรมสังคมในเมืองซานฟรานซิสโก ให้กับหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ ที่ออกในนครลอสแอนเจลลิส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน
งานเขียนนวนิยายเรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อกลับไปอยู่อเมริกาหนที่สาม คือเมื่อ วันที่ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001 )เมื่อเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายใช้เครื่องบินบินเข้าชนตึกเวิลเทรดที่นิวยอร์ค บังเอิญได้เข้าไปอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของไทยตามเว็บต่างๆ เห็นความคิดเห็นของคนหลายๆ คน ที่ให้ความเห็นไม่เป็นธรรมกับคนอเมริกัน บางความเห็นเขาก็ว่าสะใจที่อเมริกาโดนทำร้าย ทั้งๆ ที่ผู้ที่สูญเสียชีวิตคือผู้บริสุทธิ ทำให้ เกิดความสลดใจและต้องการบันทึกความรู้สึกของผู้คนในอเมริกาช่วงนั้นไว้ สร้างสรรค์พล็อตเรื่อง โดยนำฮีโร่ของวันเกิดเหตุ คือหน่วยกู้ภัยของอเมริกามาเป็นตัวเอก แต่ให้เขาเป็นหนุ่มไทยที่เกิดและเติบโตในอเมริกา และนำนางเอกที่ไม่เคยชอบอเมริกาเดินทางมาตามหาญาติที่ไปอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่นำพล็อตเรื่องมาเป็นที่ซานฟรานซิสโกแทน และก็เขียนแนวท่องเที่ยวเมืองซานฟรานและเมืองใกล้เคียงไปด้วย
นำเรื่องเสนอไปยังสำนักพิมพ์ดอกหญ้า และเขารับพิมพ์ทันที มีการเปิดตัวหนังสือให้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นความประทับใจที่ไม่มีวันลืมเลือนในชีวิต สำหรับนวนิยายเรื่องแรก ชื่อเรื่อง “ลิขิตรักจากเถ้าธุลี” ให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Out of the ashes โดยใช้นามปากากาว่า “ลิลิตดา” และจากนั้นก็ใช้ นามปากกา “ลิลิตดา” ตลอดมา


ผลงานเขียนที่ผ่านมา


เรื่องแรกที่กล่าวไปแล้วก็คือ ลิขิตรักจากเถ้าธุลี ส่วนเรื่องที่สองคือ “จนกว่าฟ้าจะมีหงส์” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เปิดตัวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2546 เป็นนวนิยายรักโรแมนติกระหว่างนายแพทย์หนุ่มแห่งราชนาวีไทย ที่มีต่อสาวไทยเชื้อสายมอญจากปากเกร็ด ซึ่งทั้งสองรอคอยซึ่งกันและกันนานนับสิบปี เมื่อหญิงสาวต้องทำหน้าที่ในการร่วมต่อสู้เพื่อให้รัฐมอญ ได้มีส่วนร่วมในการปกครองร่วมกับรัฐบาลพม่า เรื่องที่สามคือ “บอกรักผ่านมะขามกับหวานเย็น” สำนักพิมพ์เดอะบุ๊กเลิฟเวอร์ พ.ศ. 2547 เรื่องราวของความบังเอิญ เมื่อสุนัขกับแมวและเจ้าของสุนัขกับแมว เดินทางมาสร้างความชุลมุน ตามใบสั่งของกามเทพ เรื่องที่สี่ “ใจ..คอยใจรัก” บริษัท ปั๊มสเตชั่น พ.ศ. 2549 เป็นเรื่องราวของลุงกับหลานเชยๆ จากชนบท ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอเมริกา ด้วยความซื่อๆ ทำให้เกิดบรรยากาศสนุกๆ ขึ้นมา จนเกิดไมตรีจิตกับสาวน้อยที่เดินทางไปด้วย สานสายใยจนทำให้ใจคอยใจรักกันเป็นเวลาหลายปี และเรื่องที่ห้า “ล้วนเป็นเหตุให้รักเธอ” มอบลิขสิทธิ์ให้วัดดาวดึงษาราม บางพลัด จัดพิมพ์ และบริษัทเคล็ดไทยจัดจำหน่าย พ.ศ.2551 โดยมอบรายได้ทุกบาททุกสตางค์ให้กับสำนักเรียนสามเณร วัดดาวดึงษาราม เป็นนวนิยายรักอ่านสบายๆ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องราวของนายทหารอดีตเด็กวัด กับสาวน้อยบุตรบุญธรรมของบ้านละครของท่านขุน ที่ต้องพบกับอุปสรรคจากการทดแทนบุญคุณของผู้มีพระคุณ แต่ก็สามารถผ่านพ้นมาใช้ชีวิตด้วยกันได้ด้วยเหตุแห่งบุพเพสันนิวาส

นอกจากนี้ก็มีบทเขียนในนิตยสาร ต่วย ตูน พ็อกเก็ตแมกาซีน เขียนในนาม “เพ็ญวิภา” ได้รับการตีพิมพ์ให้ทั้งหมดสิบสองบท โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Talk of the town in USA โดยใช้ชื่อจริง คือเพ็ญวิภา
มีบล็อกที่ที่เขียนอยู่สองแห่ง คือที่ โอเคเนชั่น ที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตสามสิบปีในคาลิฟอร์เนียร์ และมีเรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง
www.oknation.net/blog/phenvipa และเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทยในอเมริกาที่http://www.phenvipa.blogspot.com/ และขณะนี้กำลังค่อยๆ ทยอยสร้างเรื่องลงเว็บไซต์ของตัวเองทีwww.sapparos.com

ใครคือนักเขียนในดวงใจ

คุณทมยันตี (และทุกนามปากกาของคุณทมยันตี) คุณโสภาค สุวรรณ บทเขียนและนวนิายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ทุกเรื่อง และ ป. อินทรปาลิต

แนวการเขียนที่ถนัด
ชอบอ่านนวนิยายรัก อ่านแล้วบันเทิงใจ ก็เลยชอบเขียนนวนิยายรักด้วย ส่วนบทความจะถนัดวิพากย์ วิจารณ์เรื่องราวที่เป็น talk of the town ที่น่าสนใจในประเทศสหรัฐอเมริกา

ชีวิตปัจจุบัน
เกษียณและรับบำนาญจากบริษัทที่เคยทำงานด้วยในอเมริกา กิจวัตรประจำวันคือ เลี้ยงหลาน เขียนหนังสือ แปลงานจากภาษาไทยเป็นอังกฤษให้กับสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นครั้งเป็นคราว

กิจกรรมยามว่าง
รักนาฏศิลป์ไทยมาก เป็นศิษย์ครูสัมพันธ์ พันธ์มณี มาอยู่ที่อเมริการับเป็นที่ปรึกษาด้านนาฏศิลป์ไทยให้กับชมรมนาฏศิลป์ของวัดพุทธานุสรณ์ในซานฟราน-เบย์แอเรีย รวมทั้งอยู่ในชมรมดนตรีไทยของศูนย์วัฒนธรรมไทยเบิร์กเล่ย์ โดยเล่นเครื่องดนตรี ระนาดเอก กิจกรรมในวันว่างจึงคลุกคลีอยู่กับชมรมนาฏศิลปและดนตรีไทย และออกแสดงให้ชุมชนอเมริกันได้ชมกันในงานเทศกาลต่างๆ ทั้งของไทยและอเมริกัน

พูดถึงโครงการชมนาด
ดีใจที่ทางประพันธ์สาส์นมีผลักดันโครงการดีๆ เพื่อให้ต่างชาติรู้จักวรรณกรรมไทย คงไม่บังอาจติ แต่มีข้อแนะนำตรงที่ว่าน่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ประกาศให้ผู้ส่งงานได้ทราบชัดเจนกว่านี้สักหน่อย เนื่องจากทุกคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องแนวไดก็ได้ แนวรัก แนวหวาน แนวสืบสวน ฯลฯ ได้หมด แต่บังเอิญภายหลังไปเห็นบทความที่มีผู้เขียนถึงโครงการนี้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ชี้แนะว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเลิกสร้างนิยายแนวตลาด ประเภท แนวละครน้ำเน่าอะไรพวกนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตั้งนิยามคำว่า “น้ำเน่า”
นวนิยายในแนว “น้ำเน่า” ที่ว่านี้ ที่จริงแล้วก็คือเรื่องราวที่ได้มาจากชีวิตผู้คนในสังคมปัจจุบันแทบทั้งสิ้น ตลาดหนังสืออเมริกันคนก็นิยมอ่านกัน นักเขียนแนวโรมานซ์ที่มีรายได้ดีติดอันดับก็มี เช่น Johnnan Lindsey หรือ Dam Barbara Cartland เป็นต้น

อันที่จริงควรจะให้ความสำคัญของพล็อตเป็นประเด็นหลัก เพราะเมื่อหนังสือผ่านประกวดนั้น ผู้จัดจะนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงมาดูว่าพล็อตดังกล่าวจะตีตลาดต่างประเทศได้หรือไม่ การส่งนิยายไปขายในอเมริกานั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ยากกว่าเมืองไทย ไม่มีการลงนิตยสารเพื่อหาแฟนคลับก่อนพิมพ์

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า การจะให้คนต่างชาติสนใจมาอ่านวรรณกรรมไทย ที่นอกเหนือจากหนังสือท่องเที่ยวและสารคดีที่ฝรั่งเขียนถึงเราแล้ว หนังสือเรื่องนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่มีคนของชาติเขามาเป็นตัวละครร่วมด้วยในหนังสือ ยกตัวอย่างหนังสืออ่านเล่นที่ขายดีในอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ เรื่อง Bangkok 8 และตามมาด้วยเรื่อง Bangkok Tatoo ที่เขียนโดย John Burdett ที่มีฝรั่งเป็นตัวละครสำคัญมาตามสืบสวนคดีที่กรุงเทพฯ เป็นต้น

เวลานี้นักเขียนชาวเอเซียที่มีนวนิยายขายดีในตลาดหนังสืออเมริกันก็เขียนเรื่องแนวดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนชาวจีน เช่น เรื่อง Joy Luck Club ที่เล่าเรื่องราวการอพยพของครอบครัวคนจีนไปอยู่อเมริกา หรือเรื่องของนักเขียนชาวอินเดีย เรื่อง Namesake เรื่องของชาวอินเดียที่อพยพไปอยู่อเมริกาและการทำตัวให้เข้ากับสังคมของเขา ทั้งสองเรื่องฮอลลิวู๊ดก็นำไปสร้างภาพยนต์เป็นที่นิยมกันแล้ว เพราะเป็นการเล่าขานถึงการนำวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามาผสมกลมกลืนกับสังคมอเมริกัน

การนำวรรณกรรมไทยเข้าสู่ตลาดสากลนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน แต่ต้องหาผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษระดับนักเขียนมาแปลงานนี้ด้วย เพราะมิใช่ว่าคนที่พูดและเขียนภาษาอังกฤษเป็นจะเขียนวรรณกรรมได้ทุกคน มิฉะนั้นงานที่แปลออกมาจะหมดอรรถรสไปด้วย


ฝากข้อคิดดีๆให้กับคนที่อยากเขียนหนังสือ

ขอให้กำลังใจกับทุกคนที่รักงานเขียน ได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบล็อกของน้องๆ หลายคน และช่วยวิพากษ์วิจารณ์ให้เพื่อให้กำลังใจพวกเขาเสมอๆ แม้ว่าจะรู้ดีว่าวงการนี้เกิดยากมาก และก็ไม่ได้นำรายได้มาให้มากมายเลยนอกเสียจากว่าจะมีชื่อเสียงในวงการนี้แล้ว และอยากจะบอกว่าหากรักจะเขียน หากส่งงานไปกองบรรณาธิการเขาไม่สนใจ เราก็มีทางเผยแพร่อีกมากมายในโลกของคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนลงบล็อก อ่านกันเองในแฟนคลับ หรือส่งไปตามเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ต่างๆ หากมีคนเข้ามาอ่านเรื่องของเราจำนวนมาก อีกหน่อยกองบรรณาธิการเขาก็เข้ามาหาเราเอง
มีตัวอย่างกลุ่มหลานๆ ของดิฉัน เขามีกลุ่มของเขา เขียนกันอ่านในกลุ่ม หากถูกใจเขาก็พิมพ์กันออกมาขายกันเอง เชื่อหรือไม่ว่าเขามีรายได้ดีกันด้วย...
อยากจะสนับสนุนคนที่อยากเข้ามาในถนนงานประพันธ์ว่า เมื่อเรารักจะเขียนต้องไม่กลัวว่าใครเขาจะอ่านเรื่องของเราหรือไม่ หากว่าเรื่องที่เขียนนั้นตั้งอยู่ในความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานที่ดี ถูกต้องตามประเพณีของบ้านเมือง และอยู่ในศีลธรรมจรรยาที่ดี..จะกลัวไปทำไมคะ ...จับปากกาเขียนเลยค่ะ
สะสมประสบการณ์...ตามความฝันของเรา... จะกี่วันกี่ปีก็อย่าย่อท้อ... ดิฉันนั้นจับปากกาเขียนนวนิยายเมื่ออายุย่างเข้าหกสิบ...ยังไม่ย่อท้อและอับอายใครเลย....

และขอให้ทุกคนที่มีความมุ่งมั่นจริง อ่านหนังสือให้มากๆ ออกไปดูโลกด้วยตัวเอง ยิ่งได้เดินทางไปตามสถานที่น่าสนใจต่างๆ เพื่อสะสมประสบการณ์ให้มากๆ ก็จะยิ่งทำให้เรามั่นใจในงานเขียนเพิ่มขึ้น ...ขอให้โชคดีค่ะ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณจ้าสำหรับบทความ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ